บทนำ
พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 16 และมาตรา 17 บัญญัติให้เทศบาล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบอื่นๆ มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง
ความหมายของแผนพัฒนาท้องถิ่น
แผนพัฒนาท้องถิ่น หมายความว่า แผนพัฒนาท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่กำหนดวิสัยทัศน์ ประเด็นยุทธศาสตร์ เป้าประสงค์ ตัวชี้วัด ค่าเป้าหมาย และกลยุทธ์ โดยสอดคล้องกับแผนพัฒนาจังหวัด ยุทธศาสตร์การพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตจังหวัด แผนพัฒนาอำเภอ แผนพัฒนาตำบล แผนพัฒนาหมู่บ้านหรือแผนชุมชน อันมีลักษณะเป็นการกำหนดรายละเอียดแผนงาน โครงการพัฒนาที่จัดทำขึ้นสำหรับปีงบประมาณแต่ละปี ซึ่งมีความต่อเนื่องและเป็นแผนก้าวหน้าและให้หมายความรวมถึงการเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงแผนพัฒนาท้องถิ่น
วัตถุประสงค์ของการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น
1. เพื่อแสดงความสัมพันธ์เชื่อมโยงและสอดคล้องกันระหว่างแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาและการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี
2. เพื่อแสดงแนวทางการพัฒนาท้องถิ่นที่มีความสอดคล้องและสามารถสนองตอบต่อยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ
3. เพื่อเป็นการจัดเตรียมโครงการพัฒนาต่างๆ ให้อยู่ในลักษณะที่พร้อมจะบรรจุในเอกสารงบประมาณรายจ่ายประจำปี และนำไปปฏิบัติได้ทันที เมื่อได้รับงบประมาณ
ขั้นตอนการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น
ขั้นตอนที่ 1 การเตรียมการจัดทำแผน
ขั้นตอนที่ 2 การคัดเลือกยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนา
ขั้นตอนที่ 3 การเก็บรวบรวมข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล
ขั้นตอนที่ 4 การกำหนดวัตถุประสงค์ของแนวทางการพัฒนา
ขั้นตอนที่ 5 การจัดทำรายละเอียดโครงการ/กิจกรรมการพัฒนา
ขั้นตอนที่ 6 การจัดทำร่างแผนพัฒนาท้องถิ่น
ขั้นตอนที่ 7 การอนุมัติและประกาศใช้แผนพัฒนาท้องถิ่น
ประโยชน์ของแผนพัฒนาท้องถิ่น
1. การบรรลุจุดมุ่งหมายตามยุทธศาสตร์การพัฒนา พันธกิจ และวิสัยทัศน์ที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งจุดมุ่งหมาย (Attention of Objectives) มีความสำคัญอย่างยิ่งในกระบวนการวางแผนเพราะการวางแผนทุกครั้งย่อมต้องมีจุดหมายปลายทางที่กำหนดไว้ ถ้าจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้มีความชัดเจน ก็จะช่วยให้การปฏิบัติตามแผนมีทิศทางมุ่งตรงไปสู่จุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้ได้อย่างสะดวกและเกิดผลดี
2. เกิดความประหยัด (Economical Operation) การวางแผนเกี่ยวข้องกับการใช้สติปัญญาเพื่อคิดวิธีการให้องค์กรบรรลุถึงประสิทธิภาพ สร้างความร่วมมือและประสานงานระหว่างหน่วยงาน กิจกรรมที่ดำเนินมีความสอดคล้องต่อเนื่องกัน ก่อให้เกิดความเป็นระเบียบในงานต่าง ๆ ที่ทำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรต่าง ๆ อย่างคุ้มค่า นับว่าการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะก่อให้เกิดความประหยัด
3. ลดความไม่แน่นอน (Reduction of uncertainty) การจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น เป็นการลดความไม่แน่นอนในอนาคตลง เนื่องจากการใช้จ่ายและการจัดเก็บรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขึ้นอยู่กับสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจ และสังคมส่วนรวม การวางแผนปฏิบัติการจึงให้เกิดความแน่นอนในการใช้งบประมาณ เนื่องจากผ่านการวิเคราะห์พื้นฐานของข้อเท็จจริง
4. ผู้บริหารท้องถิ่นใช้เป็นเกณฑ์ในการควบคุม (Basic of Control) การวางแผนและการควบคุมเป็นสิ่งที่แยกออกจากกันไม่ได้ ต้องดำเนินการคู่กันและพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน การควบคุมจะทำให้การใช้งบประมาณและการดำเนินโครงการสัมพันธ์กัน
5. ทำให้เกิดการประสานงานที่ดี (Better Coordination) การจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น ช่วยให้สร้างความมั่นใจในเรื่องความเป็นเอกภาพ ที่จะบรรลุจุดมุ่งหมายในอนาคต ทำให้กิจกรรมต่าง ๆ ที่วางไว้ มุ่งไปสู่จุดมุ่งหมายเดียวกัน มีการประสานงานที่ดีในฝ่ายต่าง ๆ ในเทศบาลนครสมุทรปราการ และในพื้นที่ของเทศบาลนครสมุทรปราการ รวมทั้งเป็นการหลีกเลี่ยงปัญหาความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติงานของแต่ละหน่วยงานอีกด้วย
กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาระดับต่างๆ สำหรับการกำหนดแผนพัฒนาท้องถิ่น
1. แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) การที่จะบรรลุวิสัยทัศน์และทำให้ประเทศไทยพัฒนาไปสู่อนาคตที่พึงประสงค์นั้น จำเป็นต้องมีการวางแผนและกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาในระยะยาว และกำหนดแนวทางการพัฒนาของทุกภาคส่วนให้ขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องกำหนดยุทธศาสตร์ชาติในระยะยาวเพื่อถ่ายทอดแนวทางการพัฒนาสู่การปฏิบัติในแต่ละช่วงเวลาอย่างต่อเนื่อง และมีการบูรณาการสร้างความเข้าใจถึงอนาคตของประเทศไทยร่วมกัน เกิดการรวมพลังของทุกภาคส่วนในสังคม ทั้งภาคประชาชน ภาคเอกชน และประชาสังคม ในการขับเคลื่อนการพัฒนาเพื่อการสร้างและรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์แห่งชาติและบรรลุวิสัยทัศน์ "ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" หรือคติพจน์ประจำชาติ "มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" เพื่อให้ประเทศมีขีดความสามารถในการแข่งขัน มีรายได้สูง อยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว คนไทยมีความสุข อยู่ดีกินดี สังคมมีความมั่นคง เสมอภาคและเป็นธรรม ซึ่งยุทธศาสตร์ชาติที่จะใช้เป็นกรอบแนวทางการพัฒนาในระยะ 20 ปี ต่อจากนี้ไป จะประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 6 ด้าน ได้แก่
(1) ยุทธศาสตร์ ด้านความมั่นคง
(2) ยุทธศาสตร์ ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน
(3) ยุทธศาสตร์ ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน
(4) ยุทธศาสตร์ ด้านการสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม
(5) ยุทธศาสตร์ ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
(6) ยุทธศาสตร์ ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐแวดล้อม
2. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2561-2565) จากบรีบทและความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ที่ประเทศประสบอยู่ทำให้การกำหนดวิสัยทัศน์แผนพัฒนาฯ ฉับบที่ 12 ยังคงมีความต่อเนืื่องจากฉบับที่ 11 และกรอบหลักการของการวางแผนน้อมนำและประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ยึดคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม การพัฒนที่ยึดหลักสมดุล ยั่งยืน โดยวิสัยทัศน์ของการพัฒนาในฉบับที่ 12 ให้ความสำคัญกับการกำหนดทิศทางการพัฒนาที่มุ่งสู่การเปลี่ยนผ่านประเทศจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง มีความมั่นคง และยั่งยืน สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข และนำไปสู่การบรรลุวิสัยทัศน์ระยะยาว "มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ของประเทศ ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 10 ด้าน ได้แก่
(1) ยุทธศาสตร์ ด้านการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์
(2) ยุทธศาสตร์ ด้านการสร้างความเป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
(3) ยุทธศาสตร์ ด้านการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน
(4) ยุทธศาสตร์ ด้านการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
(5) ยุทธศาสตร์ ด้านความมั่นคง
(6) ยุทธศาสตร์ ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพและธรรมาภิบาลในภาครัฐ
(7) ยุทธศาสตร์ ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์
(8) ยุทธศาสตร์ ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรม
(9) ยุทธศาสตร์ ด้านการพัฒนาภาคเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจ
(10) ยุทธศาสตร์ ด้านการต่างประเทศ ประเทศเพื่อนบ้าน และภูมิภาค
3. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2566-2570) การกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศในระยะของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ซึ่งเป็นแผนพัฒนาฉบับแรกที่เริ่มต้นกระบวนการยกร่างกรอบแผนภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และจะมีผลในการใช้เป็นกรอบเพื่อกำหนดแผนระดับปฏิบัติการในช่วง 5 ปีที่สองของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยังคงน้อมนำ หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นหลักนำทางในการขับเคลื่อนและวางแผนการพัฒนาประเทศ ให้เกิดประสิทธิผลในการขับเคลื่อนพลวัตการพัฒนาประเทศในมิติต่างๆ ไปสู่เป้าหมายอย่างเป็นรุปธรรมและบรรลุเป้าหมายตาม ยุทธศาสตร์ชาติ กำหนดไว้ แผนยุทธศาสตร์ชาติระดับที่ 1 จะทำหน้าที่เป็นกรอบทิศทางการพัฒนาประเทศในภาพรวมที่ครอบคลุมการสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาประเทศ ด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกัน ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และ แผนยุทธศาสตร์ชาติระดับที่ 2 จะเป็นกลไกสำคัญในการถ่ายทอดแนวทางการขับเคลื่อนประเทศในมิติต่าง ๆ ของยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติ โดยกรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ที่กำหนดไว้คือการ “พลิกโฉมประเทศไทยสู่ เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้้าอย่างยั่งยืน” เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการถ่ายทอดแนวทางการขับเคลื่อนประเทศในมิติต่างๆ ไปสู่การปฏิบัติและสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติได้อย่างสัมฤทธิ์ผล โดยแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ได้กำหนดเป้าหมายหลักของการพัฒนาไว้ 5 ประการ ประกอบด้วย
(1) การปรับโครงสร้างภาคการผลิตและบริการสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม
(2) การพัฒนาคนสำหรับโลกยุคใหม่
(3) การมุ่งสู่สังคมแห่งโอกาสและความเป็นธรรม
(4) การเปลี่ยนผ่านการผลิตและบริโภคไปสู่ความยั่งยืน
(5) การเสริมสร้างความสามารถของประเทศในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและความเสี่ยงภายใต้บริบทโลกใหม่
4. แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาของ อปท.ในเขตจังหวัดสมุทรปราการ (พ.ศ.2566-2570) องค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ ได้กำหนดกรอบแนวทางยุทธศาสตร์การพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตจังหวัดสมุทรปราการไว้ 5 ด้าน ประกอบด้วย
(1) ยุทธศาสตร์ด้านผังเมืองและระบบโครงสร้างพื้นฐาน
(2) ยุทธศาสตร์ด้านระบบสวัสดิการและคุณภาพชีวิตของประชาชน
(3) ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจในทุกภาคส่วนทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม และภาคการท่องเที่ยวแบบสมดุล
(4) ยุทธศาสตร์ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
(5) ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาการเมืองการบริหารและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนตามหลักธรรมาภิบาล
ยุทธศาสตร์การพัฒนาเทศบาลนครสมุทรปราการ
เทศบาลนครสมุทรปราการ ได้นำผลจากการวิเคราะห์จุดยืนทางยุทธศาสตร์ระดับมหภาคที่เกี่ยวข้องและศักยภาพของเทศบาล มากำหนดเป็น จุดยืนทางยุทธศาสตร์ (Positioning) ไว้ 5 ประเด็น ประกอบด้วย (1) ทันสมัย-ก้าวหน้า (2) พัฒนาคุณภาพชีวิต (3) พัฒนาเศรษฐกิจ (4) เมืองสะอาด (5) อนุรักษ์วิถีชุมชนและสิ่งแวดล้อม และได้นำมากำหนดเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาไว้เป็น 5 ด้าน ดังนี้
ยุทธศาสตร์ อปท. ในเขตจังหวัด | ยุทธศาสตร์ เทศบาลนครสมุทรปราการ |
1. ยุทธศาสตร์ ผังเมืองและระบบโครงสร้างพื้นฐาน | 1. ยุทธศาสตร์ ด้านโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาระบบโลจิสติกส์ |
2. ยุทธศาสตร์ ระบบสวัสดิการและคุณภาพชีวิตของประชาชน | 2. ยุทธศาสตร์ ด้านส่งเสริมคุณภาพชีวิต การศึกษา ศาสนา และศิลปวัฒนธรรม |
3. ยุทธศาสตร์ การจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม | 3. ยุทธศาสตร์ ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม |
4. ยุทธศาสตร์ การพัฒนาเศรษฐกิจในทุกภาคส่วนทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรมและภาคการท่องเที่ยวแบบสมดุล |
4. ยุทธศาสตร์ ด้านการส่งเสริมการลงทุน พาณิชยกรรม และการท่องเที่ยว |
5. ยุทธศาสตร์ การพัฒนาการเมืองการบริหารและการมีส่วนร่วม ของภาคประชาชนตามหลักธรรมาภิบาล |
5. ยุทธศาสตร์ ด้านการเมือง การบริหาร สังคม และความมั่นคง |
เป้าประสงค์
เทศบาลนครสมุทรปราการ ได้กำหนดเป้าประสงค์ของการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุตามยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ 5 ประการ ดังนี้
1. เพิ่มขีดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค สาธารณูปการ จัดระบบผังเมืองน่าอยู่ ส่งเสริมระบบโดยปรับปรุงโครงข่ายการคมนาคมให้สมบูรณ์ได้มาตรฐาน
2. ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากการมีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดความเสมอภาคและเท่าเทียมกันในสังคม
3. ชุมชนมีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ ได้รับการจัดการคุณภาพด้านสิ่งแวดล้อม โดยการมีส่วนร่วมอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ
4. ประชาชนมีอาชีพและรายได้เพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจมีความเข้มแข็ง บนพื้นฐานของการพึ่งตนเอง ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของคนในท้องถิ่น
5. พัฒนาระบบการบริหารจัดการระบบการทำงานเพื่อให้การบริหารราชการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด และประชาชนมีความมั่นคง ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินจากภัยคุกคาม ภัยพิบัติทุกรูปแบบ รวมทั้งความสามัคคีโดยมีส่วนรวมบนวิถีทางประชาธิปไตย
แผนพัฒนาท้องถิ่น
แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ.2566-2570)
แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ.2561-2565)
ประกาศการใช้แผนพัฒนาท้องถิ่น 5 ปี (พ.ศ.2561-2565) ดาวน์โหลด